หน้าหลัก Home    คุณกำลังอยู่ที่ : หน้าแรก > ข้อมุลด้านการเกษตรที่น่าสนใจ > การขยายพันธุ์หญ้าแฝก
 

 


   การขยายพันธุ์หญ้าแฝก


               การขยายพันธุ์หญ้าแฝกเป็นขั้นตอนที่สำคัญของระบบหญ้าแฝก หลังจากที่ได้มีการรวบรวมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ หรือการนำพันธุ์หญ้าแฝกมาจากต่างประเทศ จึงทำให้การขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นตามความต้องการ ซึ่งสามารถทำได้โดยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การปลูกหญ้าแฝกในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือปลูกขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝกเป็นจำนวนมากเต็มพื้นที่ในแปลงขยายพันธุ์หรือแปลงแม่พันธุ์แฝก อนึ่งการนำพันธุ์เข้ามาใหม่ซึ่งมีปริมาณน้อย สามารถใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเพิ่มปริมาณหน่อหญ้าแฝกขึ้นอย่างรวดเร็ว ในการขยายพันธุ์เพื่อให้ได้หน่อหญ้าแฝกปริมาณมากนั้น จะต้องมีการปฏิบัติดูแลรักษา ซึ่งมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

การขยายแม่พันธุ์
1. การปลูกลงดินในแปลงยกร่อง  
          การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการนี้จะทำในที่ที่มีการชลประทาน หรือพื้นที่ที่มีการจัดระบบการให้น้ำหญ้าแฝกได้เป็นอย่างดี นำหน่อหญ้าแฝกไปปลูกในแปลงที่เตรียมดินและยกร่องไว้แล้วปลูกในขณะที่ดินยังมีความชุ่มชื้นอยู่ ขนาดแปลงกว้าง 1.50 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแปลง 1 เมตร ปลูกโดยใช้ระยะห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร
2. การปลูกลงดินในแปลงขนาดใหญ่  
          วิธีการนี้เป็นการขยายพันธุ์เป็นแปลงใหญ่ หลังจากการไถพรวนพื้นที่เป็นอย่างดีแล้ว จะนำหน่อพันธุ์หญ้าแฝก ซึ่งตัดใบเหลือความยาว 20 เซนติเมตร และรากยาว 5 เซนติเมตร ปลูกลงแปลงในขณะที่ดินมีความชุ่มชื้น ควรใช้หน่อพันธุ์หลุมละ 2-3 หน่อ โดยใช้ระยะปลูก 50 x 50 เซนติเมตร และเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา ควรปลูกเป็นแถบตามระยะปลูกดังกล่าวจำนวน 6 แถว ละเว้นสำหรับเป็นทางเดิน 1.00-1.50 เมตร สลับกันไป
3. การขยายแม่พันธุ์และกล้าโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  
          การขยายพันธุ์หญ้าแฝกโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยี่อเป็นเทคนิคที่ใช้ขยายพันธุ์พืช ให้ได้กล้าพันธุ์ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องคำนึงถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน ไม่เปลืองพื้นที่ปลูกและดูแลรักษา ไม่เปลืองแรงงาน และประหยัดค่าใช้จ่าย กล้าที่ได้มีความแข็งแรงที่สม่ำเสมอ การเจริญเติบโตดี มีอัตราการแตกหน่อสูง กรมพัฒนาที่ดินได้ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์หญ้าแฝกสายพันธุ์อินเดียพระราชทาน สายพันธุ์ญี่ปุ่น สายพันธุ์มอนโตออสเตรเลีย และสายพันธุ์อื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้มีการประสานงานกับหน่วยงานกองทัพบก (กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์) เพื่อศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยี่อหญ้าแฝกสายพันธุ์ต่าง ๆ
การขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝก
1. กล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกขนาดเล็ก  
          กล้าหญ้าแฝกที่ได้จากแม่พันธุ์ที่แข็งแรง ซึ่งเพาะชำในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือปลูกขยายพันธุ์ในแปลงขนาดใหญ่ หรือจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นำมาทำการขยายพันธุ์ปลูกในถุงพลาสติกขนาดกว้าง 2 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปปลูกลงดินหรือในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อประโยชน์ทางด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น ปลูกเป็นแถวเพื่อเป็นแนวรั้วหญ้าแฝกหรือปลูกตามขอบถนน ไหล่ทาง ขอบบ่อ คันนา เพื่อยึดดินให้มีความแข็งแรงในสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ดินเลว ดินเค็ม หรือพื้นที่ซึ่งต้องการให้หญ้าแฝกมีการตั้งตัวเร็ว การปลูกหญ้าแฝกที่ได้จากการขยายพันธุ์ในถุงขนาดเล็กนี้ จะช่วยให้หญ้าแฝกรอดตายสูง
2. การขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย  
          กล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือยเป็นการเตรียมกล้าโดยการขุดแยกหน่อจากกอหญ้าแฝก ตัดใบให้สั้น 20 เซนติเมตร ตัดรากให้สั้น และจัดรวมไว้เป็นมัด นำไปกระตุ้นรากด้วยการแช่น้ำหรือวางบนขุยมะพร้าวที่ชุ่มชื้นเพื่อให้รากใหม่งอกออกมา แล้วจึงนำไปปลูกในขณะที่พื้นที่มีความชุ่มชื้นติดต่อกันหลายวัน การใช้กล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย จะทำให้ขนส่งไปได้จำนวนมาก แต่มีข้อเสียคือ มีโอกาสตายง่ายหากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ และจะมีการแตกหน่อช้าในช่วงแรก ดังนั้น จึงควรปลูกก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฝนตกหนัก หรือปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
การใช้ประโยชน์หญ้าแฝก
          การปลูกหญ้าแฝกมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บางส่วนของแฝก เช่น ใบ ซึ่งต้องมีการตัดแต่ง และเมื่อมีปริมาณมากเกินพอที่จะใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นวัตถุประสงค์รองได้ สรุปได้ดังนี้
1.
เพื่อการอนุรักษ์ดินและความชุ่มชื้น
-
ปลูกขวางความลาดเท
-
ปลูกขวางร่องน้ำ
-
ปลูกอนุรักษ์ดินและน้ำในสวนไม้ผล หรือไม้ยืนต้น
-
ปลูกร้อมลอบแปลงหรือขอบเขตที่ดิน และตัดใบคลุมดินรักษาความชุ่มชื้นในดิน
-
ปลูกสลายชั้นดานในดิน
-
ปลูกฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
2.
เพื่อยึดดิน ให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง
-
พื้นที่ก่อสร้าง ได้แก่ ไหล่ถนน อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ ทางระบายน้ำ ริมตลิ่ง คอสะพาน
-
พื้นที่เกษตร เช่น คันนา ขอบร่อง และหลังสวนของเกษตรกร
3.
เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-
พื้นที่กำจัดขยะปฏิกูล
-
บำบัดน้ำเสียและสารพิษ
-
ทำแนวกันไฟ
     

 

โทรศัพท์ 038-531200 , โทรสาร 038-532029 , E-mail Address : cco01@ldd.go.th  Copyright © 2006-2007