หน้าหลัก Home    คุณกำลังอยู่ที่ : หน้าแรก > สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข > สภาพปัญหาดินเปรี้ยวจัด
 

        
          ดินเปรี้ยวจัดเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำกร่อย แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีก่อให้เกิดไพไรท์ในดินในสภาพแห้งไพไรท์จะถูกออกซิไดส์จนเกิดกรดกำมะถันขึ้นในดิน  ซึ่งจะทำให้เกิดการละลายของธาตุบางชนิดในดินในปริมาณที่สูงมาก  ทำให้ก่อเกิดพิษต่อต้นพืชที่นั้น ๆ  รวมทั้งผลกระทบต่าง ๆ  อีกมากมาย       

   ผลกระทบด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร


     ดินเปรี้ยวจัดเป็นดินที่มีปัญหาประเภทหนึ่งในการปลูกพืช   เนื่องจากดินมีปฏิกิริยาเป็นกรดจัด  จึงมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช  เมื่อทำการขังน้ำเพื่อปลูกข้าวจะได้ผลผลิตต่ำ  เนื่องจากดินมีปฏิกิริยาเป็นกรดอย่างรุนแรง  ทำให้การละลายของเหล็กแมงกานีส และอลูมินัมสูงขึ้นจนถึงระดับที่อาจเป็นพิษต่อข้าวและส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนธาตุฟอสฟอรัสอย่างรุนแรง   สรสิทธิ์อธิบายว่าในดินที่เป็นกรดอย่างรุนแรงโดยทั่วๆ  ไป   จะมีสภาพเหมาะสมต่อการสลายตัวของธาตุต่างๆในดิน และมีผลทำให้ปริมาณของเหล็ก อลูมินัมที่ละลายน้ำได้มีปริมาณสูงถึงระดับที่อาจเป็นพิษต่อข้าวได้ ในดินเปรี้ยวจัดมีการสะสมของแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟต์ และสารประกอบอินทรีย์ต่าง ๆ ที่อาจเป็นพิษต่อข้าวได้   Tanaka  และ Navasero รายงานว่าดินไร่ที่มีความเป็นกรดจัดมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นพิษของอลูมินัมอยู่เสมอ แต่ถ้าเป็นดินนาน้ำขังแล้วมักจะเกิดการเป็นพิษเนื่องจากเหล็ก  นอกจากนี้ความเป็นประโยชน์ของธาตุฟอสฟอรัสจะอยู่ในระดับต่ำ บางครั้งถึงกับขาดแคลน

ย้อนกลับ

   ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

 
      
ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ   เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของระบบนิเวศไม่ว่าจะเป็นระบบทางกายภาพ  เคมี    หรือ  ชีวภาพ    ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนเพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์ย่อมเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา   ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผลเสียมากกว่าผลดี   ดังนั้นถ้าหากมีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติไปใช้โดยปราศจากการวางแผนและการจัดการที่เหมาะสมแล้ว  ย่อมส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงและบริเวณที่อยู่ห่างออกไปด้วย ในทำนองเดียวกัน  ถ้ามีการพัฒนาบริเวณชายฝั่งทะเลเพื่อใช้พื้นที่ดินเปรี้ยวจัด หรือดินเค็ม   โดยไม่มีแผนการพัฒนาที่เหมาะสมแล้ว   ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบข้างย่อมเกิดขึ้นการปรับปรุงพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อใช้ในการปลูกข้าว   หรือใช้ทำนากุ้ง  ทำให้สูญเสียพื้นที่อันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์จำนวนมากมายหลายชนิดในพื้นที่ป่าชายเลนเดิมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตะกอนอันอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารตามธรรมชาติของสัตว์น้ำบริเวณนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางเคมีของน้ำ   ตลอดจนทำให้ระบบนิเวศน์ของป่าชายเลนเกิดการเปลี่ยนแปลง   ส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงชายฝั่งบริเวณใกล้เคียง ยิ่งไปกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงของสารไพไรท์ทำให้ดินกลายเป็นดินเปรี้ยวจัดเกิดสารพิษต่างๆ ใช้ปลูกข้าวไม่ได้ หรือทำให้คุณภาพน้ำและดินเสื่อมโทรม จนทำให้ผลผลิตของกุ้งที่เลี้ยงลดลงอย่างลวดเร็ว สภาพของป่าชายเลนตามธรรมชาติ  มีทัศนียภาพที่สวยงาม   มีพืชพรรณหลากหลายชนิด การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวอย่างไม่รอบคอบและไม่ระมัดระวังทำให้เกิดเป็นดินเปรี้ยวจัด  พืชพรรณ  และสัตว์เลี้ยงนานาชนิดเสียหายเสื่อมโทรม  ทำให้เกิดการสูญเสียความสวยงามที่มีอยู่ตามธรรมชาติไปอย่างสิ้นเชิง  ในที่สุดทำให้พื้นที่ดินถูกทอดทิ้งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า  สูญเสียประโยชน์ไปอย่างมหาศาล การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดทำให้เกิดมลภาวะของน้ำ  น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดจะไม่สามารถนำไปใช้ในการอุปโภคหรือใช้ในการเกษตรได้ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำ  สิ้นค่าใช้จ่ายสูง   อีกทั้งเกิดผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ  เนื่องจากความเป็นกรดและสารพิษในน้ำนอกจากนั้นยังมีผลต่อคุณภาพของน้ำใต้ดินอันเป็นผลมาจากการชะล้างกรดและสารพิษสู่ระบบน้ำใต้ดิน  ทำให้น้ำมีคุณภาพเลวไม่เหมาะที่จะนำมาใช้อุปโภคหรือบริโภค



   ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม

 
      
การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด    มีข้อจำกัดตรงที่ต้องเลือกชนิดของพืชที่ปลูกให้เหมาะสม   โดยทั่วไปนั้นการปลูกพืชจะได้รับผลผลิตต่ำหรือไม่ได้รับผลผลิต  ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอาจกล่าวได้ว่าต่ำมากหรือไม่มีเลย  การปรับปรุงพื้นที่ทั้งในด้านการกายภาพ หรือปรับปรุงสมบัติทางเคมีของดินต้องใช้ต้นทุนสูงมาก   ผลตอบแทนที่ได้ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในพื้นที่ดินที่ไม่เป็นดินเปรี้ยวจัด เกษตรกรที่ทำการเกษตรบนพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดต้องลงทุนสูงกว่าเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในพื้นที่อื่นๆไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการปรับปรุงดิน  ค่าวัสดุ  ค่าแรงงาน  และปุ๋ยที่ต้องใช้มากขึ้นเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำกว่าดินทั่วไป  แต่ผลผลิตที่ได้รับจากการลงทุนที่มากกว่านี้กลับน้อยกว่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกษตรกรที่มีที่ดินในเขตพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ซึ่งปกติยากจนอยู่แล้วยิ่งยากจนมากขึ้นเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงดินก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเมื่อผลผลิตได้น้อยก็ไม่มีเงินไปใช้หนี้ดอกเบี้ยก็เพิ่มทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัวประกอบกับอัตราเสี่ยงในการเพาะปลูกจากธรรมชาติ  เช่น   น้ำท่วม  ฝนแล้ง  ทำให้การประกอบอาชีพเป็นไปอย่างเร้นแค้นยากลำบากมากขึ้นและเกษตรกรอาจละทิ้งที่ทำกินไปหาอาชีพใหม่ หรือไปขายแรงงานในเมือง เกิดปัญหา สังคมอื่นๆ   ตามมาเป็นลูกโซ่

ย้อนกลับ

 

 

โทรศัพท์ 038-531200 , โทรสาร 038-532029 , E-mail Address : cco01@ldd.go.th  Copyright © 2006-2007